ระบบถุงลมนิรภัย สมัยนี้มีหลายใบ หลายตำแหน่ง เพื่อปกป้องให้ผู้โดยสารทุกที่นั่งเกิดความปลอดภัยสูงสุด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นอะไร ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุ แต่อย่างน้อย ด่านแรกคือ “คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง” จะช่วยให้ปลอดภัยที่สุดครับ
ในรถยุคสมัยใหม่ ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องมีระบบความปลอดภัยในเชิง “ปกป้อง” กันแทบจะทุกรุ่น แม้รถระดับ City Car ที่เป็นตัว Top ก็มีระบบเซฟตี้ให้มาอยู่พอสมควร ถ้าเทียบกับรถรุ่นเก่า สมัยนั้นอุปกรณ์พวกนี้ยังไม่มี ยิ่งรถราคาประหยัดนั้นเลิกคุย เกิดอุบัติเหตุครั้งหนึ่งก็จะเจ็บมาก หรือเสียชีวิต ต่างกับสมัยปัจจุบัน แน่นอนครับ เมื่อมีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยขึ้นมา เวลาเกิดอุบัติเหตุ โอกาสที่มนุษย์จะรอดชีวิต หรือบาดเจ็บน้อยลงจากการชนก็มีสูงขึ้น ถ้าเทียบกับรถรุ่นเก่าที่ไม่มีระบบป้องกันอะไรเลย นับว่าเป็นความโชคดี ที่วิวัฒนาการรถยนต์ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณล่ะครับ ก้าวหน้ารู้ทันมันหรือยัง ???
ถุงลมนิรภัยแบบครบทุกตำแหน่ง ด้านข้างกระจก คือ Curtain Airbag เป็นเหมือน “ม่านกันกระแทก” ส่วนศรีษะและส่วนบนของร่างกาย ส่วนข้างเบาะ คือ Side Airbag กันกระแทกในส่วนข้างครึ่งกลางและล่างของร่างกาย ในภาพเป็นรถยนต์ค่าย LEXUS รถญี่ปุ่นยุคพัฒนา ที่ขึ้นชื่อในด้านความปลอดภัยเช่นกัน
รู้จักกับ Air Bag ถุงลมนิรภัย
เคยได้ยินกันนะครับ Air Bag หรือ ถุงลมนิรภัย ที่หลายคนฝากความหวังไว้กับมัน เวลาเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น โดยปกติแล้ว เราจะไม่เห็นหน้าตามันหรอกครับ เพราะมันถูกเก็บในพวงมาลัยอย่างดี และถ้าเป็นถุงลมนิรภัยคู่ ด้านคนนั่งก็จะเก็บไว้ที่ใต้หน้าปัด เวลามีการชนรุนแรง ถุงลมจะพองตัวออกมาเพื่อ “รับหน้าท่านไว้” ไม่ให้ไปกระแทกกับพวงมาลัยหรือหน้าปัดตามแรงการชน แต่บอกไว้ก่อนนะครับ ถ้าอยากเห็นก็จง “ดูรูป” พอ ไม่ควรจะไปชนให้มันทำงานพองออกมาให้เห็นนะครับ บอกไว้ก่อน อิอิ
ที่พวงมาลัย ถุงลมจะอยู่ตรงกลาง มีสัญลักษณ์บอกไว้ จงอย่าเอาสิ่งใด ๆ ไปติดไว้ที่นั่น เจอบ่อยครับ รีโมทวิทยุบ้าง ที่วางโทรศัพท์บ้าง โลโก้ ตราต่าง ๆ ที่เป็นโลหะมีมุมแหลมคม ควรเอาออกโดยด่วน ตรงจุดนี้ไม่ควรติดตั้งสิ่งของอะไรทั้งสิ้น
สำหรับจำนวนถุงลมนิรภัยในรถยนต์นั้น ถ้าเป็นรถรุ่นพื้นฐาน ราคาไม่แพงมาก หรือรถยุคเก่าเริ่มพัฒนา ก็จะมีถุงลม 1 ใบ ที่พวงมาลัย เอาไว้ป้องกันคนขับเพียงอย่างเดียว คนนั่งก็มีลุ้นไป และมีการพัฒนาขึ้นเป็นถุงลม 2 ใบ เพิ่มด้านคนนั่งขึ้นมา หรือที่เรียกว่า Side Airbag ในปัจจุบัน ระบบถุงลมนิรภัยพัฒนาไปมาก ในรถรุ่นที่มีราคาหน่อย อาจจะมีถุงลมถึง 4 ใบ เพิ่มด้านข้างเบาะ เพื่อป้องกันแรงการชนด้านข้าง หรือมากกว่า 6 ใบ มีด้านหลังเพิ่มขึ้นมาอีก แล้วก็มีที่กระจกประตู 4 บาน เรียกว่า Curtain Airbag ซึ่งถุงลมจะพองออกมาเหมือนเป็นม่านป้องกันกระแทกไว้อีกชั้น กรณีถูกชนปะทะข้างอย่างรุนแรง เพื่อไม่ให้หน้าและศรีษะไปกระแทกกับแรงปะทะ นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ แต่มีเฉพาะรถราคาแพงเท่านั้นนะครับ รถทั่วไปได้ถุงลม 2 ใบ ก็หรูแล้ว
ชุดนี้เป็นระบบถุงลมนิรภัยในรถ BENZ ที่ก้าวไกลไปมาก มีถุงลมก้อนเล็ก ๆ สีขาว เอาไว้กันกระแทกในส่วนของสะโพก ซึ่งเป็นจุดรอยต่อสำคัญของร่างกายอีกด้วย ไม่ให้เกิดการเคลื่อนตัวจนทำให้เจ็บหนักหรือพิการได้
การทำงานของถุงลมนิรภัย ก็มีหลายจุดที่ทำงานร่วมกัน โดยหลักก็จะมี “เซนเซอร์ที่ตัวรถ” โดยมากมักติดอยู่กับหลังกันชนหน้า กันชนหลัง ด้านข้าง มันจะคอยจับแรงกระแทก เมื่อมีการชนเกิดขึ้นในขั้นรุนแรงระดับหนึ่ง เรียกว่าน่าจะเป็นอันตรายต่อผู้คนในรถแล้ว มันจะส่งสัญญาณให้ถุงลมทำงาน โดยถุงลมก็จะเป็นวัสดุคล้าย ๆ ยางสังเคราะห์หนา ๆ สีขาว ปกติมันก็พับอยู่ดีหรอก แต่พอ “มีงาน” ขึ้นมา เซนเซอร์สั่งให้มีการ “พองตัว” เกิดขึ้น จะมีชุดแก๊สด้านใน เมื่อเซนเซอร์สั่งมา มันจะมีคอนเดนเซอร์จุดแก๊ส สร้างแรงดันให้ถุงลมพองตัวอย่างรวดเร็วในเสี้ยววินาที หลังจากเกิดเหตุแล้ว ถุงลมจะฟีบลงเอง แรงดันแก๊สในถุงลมจะถูกปล่อยออก เพื่อให้คนในรถสามารถออกไปจากรถได้โดยไม่ติดถุงลม หรือให้มันไม่เกะกะในการช่วยเหลือเอาคนออกจากรถ (กรณีคนหมดสติ บาดเจ็บสาหัส) นี่คือการทำงานคร่าว ๆ ของระบบถุงลมนิรภัย
ถุงลมนิรภัยด้านหลัง กันกระแทกจากท้าย ในภาพเป็นของ TOYOTA iQ ที่เป็นรถท้ายตัดขนาดกะทัดรัดมาก เมื่อโดนชนท้าย โอกาสที่ผู้โดยสารหลังจะโดนมีสูง จึงต้องทำถุงลมช่วยไว้นั่นเอง
ถุงลมนิรภัย หรือ ถุงลมมหาภัย !!!
เคยได้ยินข่าว หรือ “เขาพูดว่า” กันบ่อย ๆ ใช่ไหมครับ อย่างในกระแสด้านบวก ว่าถุงลมนิรภัยมันปลอดภัยจริง ช่วยให้บาดเจ็บน้อยลง แต่ในกระแสด้านลบ ก็ต่อต้านกันสุดขีด บอกถุงลมมหาภัย มีแล้วอันตราย อย่ามีดีกว่า ฟังแล้วก็รู้สึกแปลก ๆ ถ้ามันไม่ดีจริง แล้วบริษัทรถยนต์จะคิดค้น ผลิตมันขึ้นมาทำไม ไม่ใช่ถูก ๆ มันต้องมีการคำนวณอย่างดี ไม่ใช่ว่าชนหนักเบาก็ทำงานหมด มันต้องมีการคำนวณแรงชน ความเร็วรถ ตำแหน่งมุมที่ชน ฯลฯ กว่าจะออกมาได้นั้นมันไม่ง่าย ส่วนตัวผมเชื่อว่าอุปกรณ์พวกนี้ “มีแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี” แล้วทำไม คนถึงเรียกมันว่า “ถุงลมมหาภัย” กันล่ะ ???
ภาพการทำงานของถุงลม กับเข็มขัดนิรภัยแบบ Pre Tension เมื่อเกิดการชนผ่านไปแล้ว เข็มขัดจะผ่อนตัวลงไม่รัดแน่นเหมือนตอนชน ทำให้สามารถออกจากรถได้ เป็นภาพจาก BENZ W126 ในยุคปี 1980 ที่มีระบบพวกนี้ใช้กันแล้ว
ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ถุงลมอาจจะไม่ทำงานนะคร๊าบ !!!
เหตุมันก็มีอยู่ว่า “คนที่ใช้รถ ขาดความรู้ความเข้าใจ ในการใช้รถ” อย่าไปโทษรถครับ โทษตัวคุณเองนั่นแหละ สาเหตุในการทำให้ถุงลมนิรภัย กลายเป็นถุงลมหาภัย ก็มีแยกย่อยเป็นอีกหลายอย่าง อันดับแรกก็คือ “ผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้า ไม่ยอมคาดเข็มขัดนิรภัย” เป็นนิสัยของพี่ไทย ไม่รู้ว่ายังไง แก้ไขไม่ได้ ก็คงต้องปล่อยตามบุญตามกรรม ลำพังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย มันก็อันตรายมากอยู่แล้ว สิ่งที่ส่งผลร้ายกับถุงลมนิรภัย ก็คือ “แรงปะทะบวก” เมื่อเกิดการชน แรงที่ชน จะส่งให้ท่านลอยไปข้างหน้าอย่างไร้ทิศทาง และถุงลมเอง มันต้องพองตัวอย่างรวดเร็วในเสี้ยววินาที ตัวคนก็จะวิ่งเข้าไปบวกกับแรงที่ถุงลมพองตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการกระแทกที่รุนแรงทวีคูณ ทำให้เสียชีวิตได้ง่าย ต้นเหตุมันมาอย่างนี้ครับ
ชุดกลไกที่สั่งการให้ถุงลมทำงาน จะอยู่ที่คอพวงมาลัย ถ้ารถที่เปลี่ยนพวงมาลัยแต่งที่ไม่มีถุงลม ก็ต้องถอดออก แต่ไฟโชว์ถุงลมจะทำงาน เพราะระบบไม่ครบถ้วนเหมือนเดิม
ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์รู้เท่าทัน จึงมีการออกแบบระบบถุงลมนิรภัยใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า “เมื่อไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ระบบจะตัดการทำงานของถุงลมทันที” ผมว่าคาดเข็มขัดนิรภัยเถอะครับ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตคุณเอง (บอกครั้งเดียวนะครับ ไม่บอกบ่อย ขี้เกียจพูดบ่อยแล้วไม่ทำ มันเปลืองกระดาษ) และต้องระวังอย่างมาก ในส่วนของ “ผู้โดยสารข้างหน้า” ก็ใช้เงื่อนไขเดียวกัน แต่จะมีข้อควรระวังอีกหน่อย ในกรณีของ “เด็กเล็กนั่งหน้า” จะมีคำเตือนเสมอ ๆ ว่าเด็กเล็กนั่งหน้าจะอันตรายสูงกว่านั่งหลัง เข็มขัดก็คาดได้ตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ทำให้การรัดตัวไม่เกิดผลดี อีกอย่างหนึ่ง ใต้เบาะนั่งหน้าฝั่งคนนั่ง จะมีระบบ “เซนเซอร์วัดน้ำหนัก” เมื่อไม่มีน้ำหนักคนนั่ง (น้ำหนัก 0 กก.) หรือน้ำหนักไม่ถึงประมาณ 20 กก. ถุงลมจะไม่ทำงานด้วยครับ
หลังจากการชนแล้ว ถุงลมจะฟีบตัวลงแบบนี้
วางของ ติดของซี้ซั้ว ในตำแหน่งที่ติดตั้งถุงลม แย่สุดสุด !!!
ต่อมา อันนี้ผมว่าแย่สุด ทราบได้ทันที่ว่า “คนไทยไม่ชอบอ่านคู่มือประจำรถ” ในรถที่มีระบบถุงลม ณ ตำแหน่งที่ถุงลมติดตั้งอยู่ จะจุดไหนก็ตาม จะมีคำเตือนว่า “ห้ามนำสิ่งของไปวางขวางไว้ หรือยึดติดไว้ ณ ตำแหน่งที่ถุงลมเก็บอยู่” เพราะตรงนั้นจะเป็นเหมือนบานฝาพับซ่อนอยู่ เพื่อเปิดให้ถุงลมออกมาเวลาชน แต่คนไทยไม่สนใจครับ ฉันจะเอาไอ้นั่น ไอ้นี่ มาแปะ มาวาง มาติด บางทีเป็นของที่อันตรายมากด้วย เช่น ของแข็ง ของมีเหลี่ยม สัน คม ไปวางไว้แถวถุงลม เจอบ่อยครับ บนหน้าปัดนี่แหละตัวดีเลย หรือบนแป้นพวงมาลัย ก็ติดอะไรไว้ไม่รู้ รีโมท แท่นวางโทรศัพท์ (กะขับไปเล่นไป แหมน่านับถือจริง ๆ) บางคนก็เอาพวกตราต่าง ๆ ที่เป็นโลหะมาติด บางอันก็แหลมคม คิดแล้วสยอง ผมไม่เอาคนนึงละ
ถุงลมอีกแบบ ที่จะป้องกันในส่วนของศรีษะและใบหน้า เมื่อเกิดการชนด้านข้าง (ถ้าเจอเหตุการณ์จริง ๆ สาวสวยคนนี้คงยิ้มไม่ออก)
สิ่งที่ “มีเฮ” ก็คือ เวลาถุงลมทำงาน มันจะดันฝาให้เปิดออกอย่างรวดเร็วและรุนแรงในเสี้ยววินาที แต่เราดันมีวัตถุสิ่งของไปขวางไว้ มันก็จะกระแทกวัตถุนั้นเข้าหน้าท่านก่อน แล้วแต่ว่าท่านจะเอา Level ไหนมาติด แข็งมาก มีคม มีเหลี่ยม ท่านก็จะบาดเจ็บมากหน่อย อันนี้ไปโทษรถไม่ได้หรอก โทษตัวเองที่ไม่ศึกษาคู่มือประจำรถให้ดีก่อนแล้วกัน หนทางแก้ก็คือ “อย่านำวัตถุใด ๆ ไปขวางไว้บริเวณที่ถุงลมติดตั้งอยู่” แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่ามันอยู่ตรงไหน ดูง่าย ๆ ครับ สังเกตคำว่า “SRS Airbag” ไว้ ถ้ามีคำนี้ติดอยู่ตรงไหน ตรงนั้นแหละครับจะมีถุงลมนิรภัยติดตั้งอยู่ อย่าได้เอาอะไรไปขวางไว้เชียว เตือนแล้วนะครับ ถ้าใครติดอยู่ก็ไปเอาของออกซะ ไม่รักจริงไม่บอกกันหรอก
กล่องควบคุมการทำงานของถุงลม จะทำหน้าที่ประมวลผลว่าถุงลมควรจะทำงานหรือไม่ และทำงานจุดไหนบ้าง
ถุงลมอาจจะไม่ทำงานทุกครั้งที่เกิดการชน ???
เคยดูข่าว หรือดูกระทู้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ เกี่ยวกับ “ชนแล้วถุงลมไม่ทำงาน” ไหมครับ มันจะมีอยู่บ่อย ๆ ในการถกเถียงเคสนี้ ตกลงแล้วยังไงกันแน่ ต้องบอกไว้ก่อนว่า “ถุงลมนิรภัยอาจจะไม่ทำงานทุกครั้งที่ชน” นะครับ เนื่องจากว่า การชนที่ไม่ได้รุนแรงจนน่าจะเกิดอันตรายต่อผู้โดยสาร ถุงลมไม่จำเป็นต้องทำงานแบบเสียเปล่า บางเคสคนไม่เป็นอะไรเลย ออกมาโวยวายพอเป็นพิธี ก็มีการชี้แจงเรื่องนี้กันบ่อยครั้งจนเป็นเรื่องธรรมดา พูดกันง่าย ๆ “ชนไม่ถึงที่ แล้วถุงลมจะทำงานไปเพื่ออะไร” ถูกต้องไหมครับสำหรับเงื่อนไขที่จะทำให้ถุงลมทำงานได้ คือ “ต้องชนรุนแรงจนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารในรถ” ซึ่งจะมีการคำนวณเรื่องแรงปะทะไว้เรียบร้อยแล้ว มันจะต้องชนในจุดที่เซนเซอร์ตรวจจับได้ว่ามีความรุนแรงมาก ถุงลมก็จะทำงานโดยทันที อีกประการหนึ่ง คือ “ถุงลมจะไม่ทำงานครบทีเดียวทุกจุด” ในรถที่มีถุงลมหลายใบ หลายตำแหน่ง เมื่อรถถูกชนเพียงจุดใดจุดหนึ่ง แต่อีกจุดไม่มีผลกระทบใด ๆ ถุงลมก็จะทำงานปกป้องเฉพาะในโซนที่ถูกชนและคิดว่าน่าจะเป็นอันตรายเท่านั้น สำหรับโซนที่ปลอดภัยก็อาจจะไม่ทำงาน
สัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่า “มีถุงลมนิรภัยติดตั้งอยู่ในจุดนั้น” ลองสังเกตว่ารถท่านมีตรงไหนบ้าง ก็อย่าเอาอะไรไปขวางทางมันแล้วกันนะครับ
ไฟเตือนถุงลมผิดปกติขึ้น ยังทำเฉย ???
รถที่พอจะมีอายุหน่อย อะไร ๆ ก็ย่อมเสื่อมไปตามเวลา ระบบถุงลมก็ย่อมจะเกิดการเสีย หรือมีบางอย่างผิดปกติขึ้น มันจะมี “ไฟเตือนระบบถุงลม” ขึ้นมา (ดังในรูป) แสดงว่าท่านจะต้องนำรถเข้าเช็คที่ศูนย์บริการโดยด่วน นั่นหมายถึงว่า ระบบอาจจะมีปัญหาจริง ๆ จะอาจจะไม่ทำงานเวลาเกิดอุบัติเหตุ บางทีมันก็ไม่ได้เสียหรอกครับ พวกเซนเซอร์ต่าง ๆ อาจจะสกปรก ขั้วหลวม อะไรก็ตามแต่ คนส่วนใหญ่จะปล่อย คิดว่าช่างมัน คงต้องซ่อมแพงแน่ ๆ เลย ทำไปก็ไม่ได้ใช้หรอก (คิดเข้าข้างตัวเองเอาเคล็ด) ยังไงเข้าไปเช็คก่อนครับ บางทีมันแค่ปัญหานิดหน่อย เสียไม่กี่ตังค์ หรืออาจจะไม่เสีย ผมว่ามีแล้วแต่ใช้ไม่ได้ จะมีไปทำไมล่ะครับ
จุดที่คนมักวางของ คือ บนหน้าปัดฝั่งคนนั่ง อันตรายมากโดยเฉพาะคนที่เอาของที่มีลักษณะเป็นมุมแหลมคม ของแข็ง ที่พร้อมจะทำอันตรายได้ หากถุงลมทำงาน เลี่ยงโดยเด็ดขาดครับ
อย่าคิดว่ามีถุงลมแล้วรอดทุกเคส !!!
ขอตบท้ายแบบ “แรง ๆ” หน่อย ถึงผู้ที่ขับรถประมาท คิดว่ามีถุงลมยังไง “กรูก็รอด” เมื่อเกิดการชน หรือมีความคิดในกระแสด้านลบว่า มีถุงลมโดนชนบางคนก็ตาย มันจะช่วยได้อย่างไร ตายได้ไงถ้ามีถุงลม ??? คำถามนี้เจอกันบ่อยมาก ต้องเข้าใจก่อนนะครับ ว่าถุงลมนิรภัย มันมีหน้าที่ “ลดความรุนแรงในการบาดเจ็บ” เท่านั้น เน้นว่า “ลดความรุนแรงในการบาดเจ็บ” อีกครั้ง มันไม่ใช่อุปกรณ์เซฟชีวิต ถ้าปะทะซัดกันเต็ม ๆ ที่ความเร็วสูง ไปเจอรถใหญ่ประสานงาหนัก ๆ รถกระจายเละเทะเป็นชิ้น ๆ ถุงลมก็ช่วยไม่ไหวเหมือนกัน ต่อให้เป็นรถยุโรปราคาแพงหลักสิบล้านก็เถอะ ถึงลิมิทที่มันเกินรับไหว ก็ถึงที่ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น “ขับรถอย่าประมาท” และ “ทำบุญเสริมชะตาชีวิต” ซักหน่อย จะเป็นผลดีมากกว่าจะมานั่งพึ่งระบบป้องกันอย่างเดียวครับ
สัญลักษณ์ตัวบน ที่เป็นรูปคนนั่ง จะเป็นสัญลักษณ์ไฟเตือนระบบถุงลมนิรภัย ถ้ามันติดขึ้นมาคือมีสิ่งที่ผิดปกติเกิดขึ้นในระบบ ควรรีบเข้าเช็คโดยด่วนครับ ปล่อยไว้ไม่ดีแน่
ที่มา : http://rongrod.com
ติดตามข่าวสารยานยนต์ก่อนใครผ่านทาง Facebookคลิกหารถสภาพดี ถูกที่สุดในประเทศ
www.kcycar.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น