คำอธิบายว่าทำไมตำรวจตั้งด่านบนทางหลวงได้


คำอธิบายว่าทำไมตำรวจตั้งด่านบนทางหลวงได้ : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2555




ผู้เขียนได้รับการร้องขอให้ช่วยอธิบายประเด็นนี้  เบื้องต้นได้ตอบกลับไปว่าด้วยประสบการณ์ทำงานรับแจ้งความจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตั้งด่านมีทั้งจับคดีฆ่าคนตาย, ทำร้ายร่างกาย, ทะเลาะวิวาท,ยาเสพติด, ป่าไม้, ค้ามนุษย์, แม้กระทั่งหมายจับคดีเช็ค  ก็เห็นตำรวจที่ตั้งด่านจับมาส่งและดำเนินคดีส่งฟ้องไปก็ไม่เคยเห็นอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้องในประเด็นที่ว่าตำรวจไม่มีอำนาจตั้งด่านในทางหลวง
สำหรับในทางปฏิบัติแล้วผู้เขียนเห็นว่าการตั้งด่านมี  3  ลักษณะ
  1. ด่านถาวร ซึ่งตั้งในจุดตรวจสำคัญและคอยบริการประชาชน  ด่านในลักษณะนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีการตั้งตลอดเวลา  เช่น ด่านตรวจที่ อ.ทรงธรรม จว.กำแพงเพชร และด่านลักษณะนี้มักจะจับกุมยาเสพติดหรือผู้กระทำความผิดได้บ่อยๆ  เช่น
http://www.thairath.co.th/content/502098
และเกิดผลในทางปฏิบัติในการขยายผลการจับกุมต่อไป

2.ด่านชั่วคราว ซึ่งตั้งตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา  โดยทั่วไปตามระเบียบจะมีผู้บังคับการเป็นคนลงนามสั่งการและมีร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเป็นผู้ควบคุมดูแล  เมื่อไม่มีความจำเป็นก็ยกเลิก

  1. ไม่ใช่ด่านตรวจแต่ลักษณะของการปฏิบัติเหมือนด่านตรวจ เช่น กรณีเกิดเหตุปล้นธนาคาร เจ้าหน้าที่สายตรวจก็จะไปประจำจุดตามที่เคยฝึกซ้อมไว้ ลักษณะก็จะเหมือนด่านเพื่อตรวจค้นผู้ต้องสงสัย  หรือกรณีฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุรถชนกันจำนวนมาก  ตำรวจอาจจำเป็นต้องปิดทางไว้ชั่วคราว
ซึ่งความจริงแล้วตำรวจเองไม่เรียกว่า ” ด่าน ” ทุกกรณีไป แต่เรียกว่า จุดตรวจ , จุดสกัด  ฯลฯ  ปัญหาที่เกิดความเคลือบแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่น่าจะมาจากด่านชั่วคราวที่ตำรวจเรียกว่า จุดตรวจ   และ  การปฏิบ้ติหน้าที่สายตรวจที่หยุดเรียกตรวจ

กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ทางหลวง
มาตรา  38  บัญญัติว่า   “ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวน วางหรือกองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวกแก่งานทาง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้”
การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีความจำเป็นแก่งานทางหรือเมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตได้กระทำการผิดเงื่อนไขที่กำหนดในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะเพิกถอนเสียก็ได้
ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการดังกล่าวรื้อถอน ทำลาย หรือขนย้ายสิ่งที่ติดตั้ง แขวน วางหรือกองอยู่ภายในกำหนดเวลาอันสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจรื้อถอน ทำลาย หรือขนย้ายสิ่งที่ติดตั้ง แขวน วางหรือกองอยู่ โดยผู้นั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้และต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการนั้น

“มาตรา ๓๙  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือวางวัตถุที่แหลมหรือมีคม หรือนำสิ่งใดมาขวางหรือวางบนทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล”
แล้วบอกว่าตำรวจตั้งด่านบนทางหลวงไม่ได้นั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิดอย่างน้อยใน  2 ประเด็น
กล่าวคือ..-
ประเด็นแรก เรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมาย  หากพิจารณาในแง่ของการบังคับใช้แล้ว ( มิได้ดูในเรื่องบ่อเกิด ) ในเมื่อ พ.ร.บ.ทางหลวงฯ  มิได้กำหนดวิธีการตรวจค้น จับกุมไว้แล้ว  การตรวจค้น จับกุม คุมขัง ประกันตัว การตรวจยึดของกลาง  ก็ล้วนนำหลักในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ ประมวลกฎหมายอาญา มาใช้ทั้งสิ้น
โปรดดูเพิ่มเติมที่   https://cassikuru.wordpress.comความรูพื้นฐานเรื่องกฏห/ลำดับชั้นของกฎหมายในปร/

ผู้ที่ศึกษากฎหมายหรือนักกฎหมายคงทราบดีอยู่แล้วว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นให้อำนาจเจ้าพนักงานในการค้นในที่สาธารณะได้ในกรณีที่มีเหตุอันควร   ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 ( 3  ) สาธารณสถาน  หมายความว่า. สถานที่ใดๆ   ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้.

ตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกา
ฎ. ที่๑๓๖๒/๒๕๐๘  วินิจฉัยว่า ร้านค้า เป็นสาธารณสถาน
.ฎ. ที่๑๗๓๒ /๒๕๑๖  วินิจฉัยว่า  ร้านกาแฟ  เป็นสาธารณสถาน
ฎ. ที่๘๘๓/๒๕๒๐ วินิจฉัยวางหลักว่า  สถานที่ใดจะเป็นสาธารณสถานหรือไม่  ไม่คำนึงถึงว่า
สถานที่นั้น  จะเป็นสถานที่ผิดกฎหมายหรือไม่ . เพียงแต่พิจารณาว่าสถานที่นั้นประชาชนมีความชอบธรรม

ที่จะเข้าไปได้หรือไม่  สถานค้าประเวณีถือได้ว่าเป็นสถานที่ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
จึงเป็นที่สาธารณสถาน ไม่ใช่ที่รโหฐาน.
และทางหลวงก็เป็นสถานที่สาธารณะ หากมีเหตุผลอันสมควรเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถตรวจค้นได้รวมไปถึงกรณีรถยนต์ด้วย  ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอาชญากรรมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคมตามอำนาจหน้าที่
โปรดดูร่วมกับ คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๓๕๓๕/๒๕๕๓

เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้  นอกจากนี้ยังมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาได้ตามมาตรา  ๒(๑๖)(๑๗)  และมาตรา  ๑๗  ซึ่งเป็นไปโดยผลกฎหมาย  ดังนั้น  ร้อยตำรวจเอก  ป.  จึงมีอำนาจจับกุมควบคุมตัวจำเลย  ประกอบจนการจัดทำเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ได้ หาใช่จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับการลงบันทึกประจำวันว่าออกไปปฏิบัติแต่อย่างใดไม่


ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้วตำรวจจึงสามารถตั้งด่านเพื่อเรียกตรวจค้น,จับกุมบนทางหลวงอันเป็นสถานที่สาธารณะได้  หากมีเหตุอันควรตามที่กฎหมายกำหนดไว้
เมื่อกฎหมายในระดับประมวลกฎหมายให้อำนาจไว้แล้ว  จึงไม่ต้องไปดูในเรื่องพระราชบัญญัติอีก เพราะเป็นกฎหมายในลำดับศักดิ์ที่ด้อยกว่าในแง่ของการบังคับใช้     หากมีปัญหาต้องดูอำนาจตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
และ พ.ร.บ.ทางหลวงนั้นมีวัตถุประสงค์  ดังนี้คือ. –

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยทางหลวงได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติต่าง ๆ ที่ใช้ในการควบคุมดูแลรักษาทางหลวงยังไม่เหมาะสม และมาตรการสำหรับดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร และปรากฏว่าได้มี (1) การใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่กำหนดบนทางหลวง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวง และความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะบนทางหลวง นอกจากนั้น ยังปรากฏว่า(2) มีการใช้ทางหลวงเพื่อการชุมนุมประท้วงยื่นข้อเรียกร้องจากทางราชการและโดยที่ได้มีการยกฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาลแล้ว สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทางหลวงเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสุขาภิบาล และกำหนดให้ผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงมีอำนาจเปรียบเทียบปรับสำหรับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวได้รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

จะเห็นได้ชัดเจนว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ต้องการบังคับใช้กับผู้ที่ใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินและผู้ที่ประท้วงโดยใช้ทางหลวงเป็นข้อต่อรองกับทางราชการ   ไม่ได้ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและในการปฏิบัติเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้  ก็ต้องใช้ตำรวจเป็นผู้เข้าไปตรวจค้น – จับกุม ยกตัวอย่างเช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2555
  • ม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุจะบัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพของตนโดยปราศจากขอบเขตหรือไปละเมิดต่อสิทธิของประชาชนผู้อื่นด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ใช้เสรีภาพดังกล่าวถึงขั้นเป็นการละเมิดหรือกระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับต่อประชาชนทุกคนย่อมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจัดระเบียบและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ก็จะอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยถือเป็นการชุมนุมโดยสงบหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกใช้ไหล่ทางของถนนเพชรเกษมอันเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเป็นที่ตั้งเต็นท์รวมทั้งวางสิ่งของต่าง ๆ จึงเป็นการกีดขวางและอาจเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือยานพาหนะที่สัญจรไปมาในทางหลวงแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะอ้างว่าไม่มีเจตนาเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจขัดขวางมิให้เดินต่อไปหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ย่อมเล็งเห็นผลจากการกระทำของตนว่าการตั้งสิ่งของเหล่านั้นกีดขวางและอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและยานพาหนะที่สัญจรไปมาบนทางหลวงได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ตามคำพิพากษาในคดีนี้ แม้แต่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องเป็นผู้บังคับใช้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอยู่ดี
ยกตัวอย่างเช่น กรณีพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุรถชนกันจำนวนมาก  ก็ดำเนินการตั้งกรวย จอดรถปิดถนนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำ  โดยใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  และก็ไม่เคยมีใครมาดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนในความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง.
ประเด็นที่สองที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดในปรัชญากระบวนการใช้กฎหมายอาญา  ซึ่งเป็นเรื่องถ่วงดุลระหว่างความมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย  กับสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาหรือจับกุมที่จะต้องได้รับการเคารพในกระบวนการยุติธรรม    แต่การนำเรื่องสิทธิของพลเมืองมาปะปนกับเรื่องประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายนั้นโดยไม่เข้าใจจะทำให้เกิดปัญหา เช่น คำพิพากษาฎีกาที่  4946 /2555
และอาจทำให้เกิดปัญหาคนใช้ทางหลวงเป็นพื้นที่กระทำความผิดหรือแม้กระทั่ง กรณี มึงกราบรถกูหรือทะเลาะวิวาท ฯลฯ  เพราะขนาดมีการตั้งด่านป้องกันเหตุยังมีคนไม่เคารพกฎหมายเป็นจำนวนมาก  ตัวอย่างเช่น  เรื่องสิบตำนานขาโหด
โปรดดูเพิ่มเติมที่
http://petmaya.com/10-legendary-thai-racers

กรณีที่สามหากไม่มีป้อมตำรวจที่อยู่ข้างทาง  ผู้เขียนดูแล้วผู้กระทำความผิดคงไม่เลิกสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
ส่วนกรณีว่าจำนวนคนเท่าใดถึงเป็นด่านนั้นขึ้นกับยุทธวิธีและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่บริบทต่างๆ  ในกรณีกำลังพลไม่เพียงพอสองคนก็อาจจำเป็นต้องตั้งด่าน การตรวจค้น เป็นยุทธวิธีที่ตำรวจใช้ทั่วโลก  หากตำรวจไม่ตั้งด่านก็อาจจะต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินตรวจ (ซึ่งแน่นอนว่างบประมาณยังไม่มี) หรือติดตั้งกล้องวงจรปิดแทน  ฯลฯ  รวมไปถึงยุทธวิธีอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอยู่ดี
ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้เขียนจึงเห็นว่าตำรวจตั้งด่านเป็นทางหลวงได้  เพราะไม่มีภารโรงที่ไหนต้องไปขออนุญาตเจ้าของตึกทำความสะอาด  หรือ  มือขวาต้องไปขออนุญาตปากก่อนแปรงฟัน ก็เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ  เพราะกระทำไปเพื่อประโยชน์สุขหรือความสงบเรียบร้อยร่วมกันตามกลไกของรัฐ
ส่วนกรณีที่ท่านเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำความผิด มีระบบรองรับมากมายอยู่แล้วขอให้พิจารณาดำเนินการเอาเถิด แต่มิใช่เปิดเจอตัวบทกฎหมายแล้วตีความเอาเอง  เพราะกฎหมายแม้ไม่มีสถาบันการศึกษาไหนสอน พ.ร.บ.ทางหลวง ในหลักสูตร แต่สามารถใช้นิติวิธี  (juris method) ในการตีความอยู่แล้ว หากท่านต้องการจะทำความเข้าใจก็สามารถศึกษาได้ แต่ไม่ใช่อ่านแล้วทำความเข้าใจเอาเอง มิเช่นนั้นมหาวิทยาลัยต่างๆ  คงต้องยุบคณะนิติศาสตร์ ไปรวมกับคณะอักษรศาสตร์แล้ว.
โดยบทสรุปแล้ว

ประการแรก หากมีตำรวจอยู่บนถนนหลวง  สุจริตชนย่อมสามารถพึ่งพาอาศัยได้  แม้เจ้าหน้าที่คนนั้นจะทุจริตซึ่งเป็นอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ  ก็ยังมีทางเลือกดำเนินการขั้นตอนของกฎหมายไม่ว่าจะเป็นทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง หรือทางคดีอาญา รวมไปถีงหน่วยงานที่ตรวจสอบการทุจริตต่างๆ   เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในเชิงเยียวยา
แต่ประการที่สอง หากไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บนทางหลวง  สุจริตชนมีทางเลือกอยู่เพียงทางเดียวคือใช้หลักการช่วยหลือตนเองคือการป้องกันตนเอง  ซึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หากเกินสัดส่วนไปก็ต้องรับผิดทางอาญาอีก    และหากไม่สามารถป้องกันตนเองได้ก็ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม .

เรียบเรียง : kcycar.com
ข้อมูล : ธรรมอาญา
ที่มา : https://thamaaya.wordpress.com
รูปภาพ : http://www.phitsanulokhotnews.com/


ติดตามข่าวสารยานยนต์ก่อนใครผ่านทาง Facebook


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น