วาง6มาตรการ แก้ปัญหารถติดเมืองกรุง ชงสร้างอุโมงค์10จุด เข้มยกรถ ล็อกล้อ ฯลฯ


  เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.)ดูแลงานจราจร เปิดเผยถึงการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาจราจรตามนโยบายนายกรัฐมนตรี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)ว่า มาตรการที่ 1 การประสานงานหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานเทศกิจและสำนักการจราจรและขนส่ง บช.น.เสนอให้จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย และเครื่องหมายสัญญาณจราจร เสนอกทม.ให้ทำอุโมงค์ทางลอด 5-10 จุด ปรับปรุงถนน เช่น ตัดเกาะกลางถนนบางจุด ประสานกรมการขนส่งทางบก และขสมก. เสนอให้กำหนดอายุการใช้งานรถประจำทาง ส่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย บช.น.เสนอให้เพิ่มช่องทาง EASY PASS และสามารถให้รถผ่านได้ด้วยความเร็วประมาณ 70 กม./ชม. เหมือนต่างประเทศ เสนอการรถไฟแห่งประเทศไทย ย้ายจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดขบวนรถไฟออกไปยังชานเมือง เช่น สายเหนืออยู่ที่สถานีดอนเมือง สายตะวันออกอยู่ที่สถานีทับช้าง สายตะวันตกและสายใต้อยู่ที่สถานีชุมทางตลิ่งชัน เพื่อไม่ให้วิ่งตัดกระแสการจราจรวันละ 1,000 กว่าขบวน รถไฟฟ้าและบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้ใช้พื้นผิวจราจรและเวลาก่อสร้างให้น้อยที่สุด
พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวต่อว่า มาตรการที่ 2 บังคับใช้กฎหมาย ยกรถ ล็อกล้อให้เกิดประสิทธิภาพ เร่งรัดกวดขันรถจอดกีดขวาง จอดในที่ห้ามจอด ตามถนนหลัก 15 สาย ถนนและซอยต่างๆ 216 จุด เพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัวมากขึ้น มาตรการที่ 3 กวดขัน รถโดยสารสาธารณะ รถประจำทาง รถตู้ โดยเฉพาะการกวดขันรถแท็กซี่ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ จับกุมปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร 94 ราย เก็บค่าโดยสารเกินและไม่กดมิเตอร์ 11 ราย แต่งกายไม่ถูกต้อง 753 ราย และไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ 359 ราย โดยประชาชนสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1197 หรือแจ้ง ผกก.ในพื้นที่ พร้อมสั่งการให้ทุกสน.จัดชุดนอกเครื่องแบบและชุดปฏิบัติพิเศษเร่งรัดจับกุมรถแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร
พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวอีกว่า มาตรการที่ 4 จับกุมเด็กแว้น ตามคำสั่งคสช. มาตรการที่ 5 กวดขันจับรถบรรทุกวิ่งในเขต กทม.ในเวลาห้าม และมาตรการที่ 6 นำภาคเอกชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการบังคับใช้กฎหมายจราจร เช่น การตรวจจับผู้กระทำผิดจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ 1,000 กว่าจุด ได้แก่ ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร เปลี่ยนช่องทางในที่ห้าม จอดรถในที่ห้าม ป้ายทะเบียนผิดกฎหมาย ย้อนศร วิ่งบนทางเท้า เป็นต้น ใช้เครื่องออกใบสั่งอัตโนมัติ (E Ticket) ชำระค่าปรับที่ร้านสะดวกซื้อและธนาคาร (E Payment) และจัดระบบรถยกร่วมกับภาคเอกชน ตามที่ตั้งเป้าแก้ไขการจราจรให้ดีขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์ ผลการดำเนินการบางจุดยังไม่ถึง แต่บางจุดดีขึ้น
ที่มา : MatichonOnline
ติดตามข่าวสารยานยนต์ก่อนใครผ่านทาง Facebook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น