ก.พลังงานเอาแน่! เล็งยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ดีเดย์ 1 ม.ค.61


 นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างติดตามดูสถานการณ์ราคาปาล์มในตลาดอย่างใกล้ชิดในช่วงที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาปรับลดส่วนผสมไบโอดีเซลจากบี 5 เป็นบี 3 หลังราคาผลปาล์มดิบขึ้นไปสูงกว่า 7 บาทต่อกิโลกรัม ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 40.49 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาไบโอดีเซลหน้าปั๊มลดลงได้อีก 40 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้น้ำมันเพื่อบริโภค คาดจะมีความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์

 นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายการจำหน่ายประเภทน้ำมันที่หัวจ่ายเหลือน้อยที่สุด ตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (ออยล์แพลน) เพื่อลดต้นทุนบริหารจัดการโดยรวม โดยตั้งเป้าหมายประกาศให้ไบโอดีเซลเป็นบี 10 ในอนาคต ส่วนกลุ่มเบนซินนั้น ผลจากการหารือร่วมกับโรงกลั่นน้ำมันเห็นตรงกันว่าเตรียมยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป

 สำหรับโรงกลั่นที่มีความเป็นห่วงว่ามีความเสี่ยงจะขาดแคลนน้ำมันพื้นฐานนั้น กรมพร้อมรับฟังและหาทางช่วยเหลือ เช่น ลดภาษีน้ำเข้า แต่โรงกลั่นลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อโรง เพื่อลดน้ำมันพื้นฐานจากแก๊สโซฮอล์ 91 เหลือแก๊สโซฮอล์ 95 เพียงอย่างเดียว โดยโรงกลั่นของไทยมี 6 แห่ง บางราย เช่น บางจากเตรียมแผนปรับเปลี่ยนน้ำมันพื้นฐานเหลือ 95 เพียงอย่างเดียวแล้ว ส่วนโรงอื่นต้องลงทุนปรับเปลี่ยนโรงละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากคำนวณผลคืนทุน 20 ปี ต้นทุนจะเพิ่ม 2 สตางค์ต่อลิตร ถือว่าน้อยมาก ไม่ควรจะนำไปเพิ่มต้นทุนแก่ผู้ใช้
 นอกจากนี้กรมฯยังมีแนวคิดเสนอหารือกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับแนวทางการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเกรดพรีเมียมของแก๊สโซฮอล์ 95 และดีเซลพรีเมียมในอัตราสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 4 บาท หรืออาจเสนอให้เรียกเก็บในอัตราเต็มเพดานที่ 10 บาทต่อลิตร เพราะเห็นว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะดีอยู่แล้ว หากต้องการใช้น้ำมันเกรดพรีเมียมก็คงไม่มีปัญหา แต่หากผู้ใช้จะลดการใช้ประเภทนี้ ทางปั๊มน้ำมันก็คงจะตัดสินใจเองว่าจะยกเลิกการจำหน่ายเกรดพรีเมียมหรือไม่

 นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในครึ่งปีแรกของปี 2559 ในกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 10.91% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 28.58 ล้านลิตรต่อวัน เป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มเบนซินเกือบทุกชนิด ยกเว้นน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย.2559 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.24% เฉลี่ยอยู่ที่ 63.97 ล้านลิตรต่อวัน เป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น 17.11%

 สำหรับการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.08% เฉลี่ยอยู่ที่ 16.20 ล้านกิโลกรัม (กก.)ต่อวัน เป็นการลดลงจากการใช้เกือบทุกสาขา โดยภาคปิโตรเคมีลดลง 24.10% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.75 ล้าน กก.ต่อวัน ภาคขนส่งลดลง 16.46% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.11 ล้านกก.ต่อวัน ภาคครัวเรือนลดลง 0.59% เฉลี่ยอยู่ที่ 5.68 ล้านกก.ต่อวัน ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย1.64% เฉลี่ยอยู่ที่ 1.65 ล้านกก.ต่อวัน ขณะที่การนำเข้าแอลพีจีลดลง 63.88% เฉลี่ยอยู่ที่ 39 ล้านกก.ต่อเดือน
 ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ สำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.39% เฉลี่ยอยู่ที่ 7.98 ล้านกก.ต่อวัน โดยภาพรวมการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.16% เฉลี่ยอยู่ที่ 909,848 บาร์เรลต่อวัน เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบลดลง 6.71% เฉลี่ยอยู่ที่ 833,082 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่า 7,353 ล้านบาทต่อเดือน

 ทีมา : khaosod.co.th
ติดตามข่าวสารยานยนต์ก่อนใครผ่านทาง Facebook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น